วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553



โครงการแก้มลิง

"...ตามปกติ เวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง... เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ
"โครงการแก้มลิง" น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ "แก้มลิง" เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้..."
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๔๓๘

ทรงอธิบายวิธีการระบายน้ำตามพระราชดำริเรื่อง “แก้มลิง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแม้ในถิ่นทุรกันดาร ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเอง บางแห่งต้องทรงพระดำเนินบุกป่าฝ่าเขาในภาคเหนือ ฝ่าดงทากชุกชุมในภาคใต้ เพื่อเสด็จฯไปทรงตรวจพื้นที่ที่จะพระราชทานโครงการต่างๆ ที่เหมาะสม หรือพระราชทานเขื่อนฝายแหล่งเก็บกักน้ำให้แก่ราษฎร แม้พระเสโทหยาดเต็มพระพักตร์ แม้ทากเกาะดูดพระโลหิตจากพระวรกาย ก็มิได้ทรงย่อท้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์เข้าช่วยแก้ปัญหาของประชาชนตลอดเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี โดยเฉพาะปัญหาการอาชีพ ปัญหาเรื่องน้ำ และดิน คือ การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝน ทรงพระราชดำริเริ่มโครงการด้านชลประทานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ โดยทรงยึดหลักการที่ว่า “ต้องมีน้ำ น้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น” ทรงตระหนักดีว่า “น้ำ” คือชีวิต น้ำมีความสำคัญต่ออาชีพเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของราษฎรไทย โดยเฉพาะในชนบท ทรงพระราชดำริว่า การสงเคราะห์ราษฎรที่ได้ผลควรเป็นการสงเคราะห์อย่างถาวร นั่นก็คือ การช่วยราษฎรให้สามารถพึ่งตนเองได้ จึงทรงพระกรุณาดำริ ริเริ่มโครงการต่างๆ เมื่อ “พัฒนาทรัพยากรน้ำ” ในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด

โครงการเขื่อนฝายแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญ ทั้งเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม และป้องกันอุทกภัย คือ โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เก็บน้ำได้ประมาณ ๗๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเสร็จเปิดใช้แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถเก็บกักน้ำไว้เพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรมและป้องกันอุทกภัยในจังหวัดภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จังหวัดนครนายก คือ เขื่อนใหญ่สูง จุน้ำ ๓๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จะแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นการก่อสร้างเขื่อนดินผสมกับเขื่อนคอนกรีต โดยนำปูนซีเมนต์และเถ้าลิกไนต์ที่ได้จากการเผ่าถ่านหินลิกไนต์ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ผสมกับปูนทราย หิน และน้ำ บดอัดเป็นชั้นๆ สามารถลดปริมาณปูซีเมนต์ลงได้จำนวนมาก เป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก เมื่อโครงการสำเร็จจะสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ และส่งน้ำให้แก่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครนายก เพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ๑๖ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำเพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ลดอุทกภัยได้ร้อยละ ๓๔ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๕๓๙) โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๗ เป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งในการแก้ปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว อันเนื่องจากน้ำเค็มรุกล้ำ และน้ำเสียจากนากุ้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ “ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนัง ๓ กิโลเมตร ทรงพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็มและสามารถทำให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร” (สุเมธ ตันติเวชกุล - แนวพระราชดำริและการพัฒนาชนบท) นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับปรุงดินในภูมิภาคต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น พระราชทานพระราชดำริให้สร้าง เขื่อนเก็บกักน้ำ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ ในจังหวัดต่างๆ ทั้ง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เป็นต้นว่า เขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนพรมธารา จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำห้วยเสี้ยว จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยนากระจงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำห้วยแดน ห้วยหีบ สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยไกรทอง ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำต้นหยง นราธิวาส เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ จำนวนมากนับด้วยร้อย ได้ช่วยให้ราษฎรในพื้นที่ที่แต่เดิมเคยแห้งแล้ง สามารถเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารและใช้น้ำเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงโค ทำให้ระดับความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากพระราชทานพระราชดำริให้สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ ยังพระราชทาน โครงการระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง เช่น โครงการระบายน้ำจาก “พรุบาเจาะ” จังหวัดนราธิวาส โดยทรงนำความรู้เกี่ยวกับการสร้างพนังกั้นน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณ จังหวัดหนองคาย ตามโครงการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มาเป็นแนวทางทรงประยุกต์และพระราชทานให้กรมชลประทานรับไปดำเนินการ หลังดำเนินการเพียง ๔ เดือน มีผลให้ใช้พื้นดินเป็นประโยชน์ได้ถึง ๑๑๙,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ “พรุบาเจาะ” ซึ่งแต่เดิมเพาะปลูกไม่ได้เพราะน้ำท่วมได้พ้นสภาพ “พรุ” ราษฎรใช้ที่ดินเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึงอีกเท่าตัว ในการจัดการทรัพยากรน้ำและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอุตสาหะวิริยะคิดค้น การทำฝนเทียม หรือ ฝนหลวง เพื่อจัดหาน้ำให้แก่พื้นดินแห้งแล้ง ด้วยพระปรีชาสามารถ ล้ำเลิศ ทรงกำหนดวิธีการไว้ ๓ ขั้นตอน คือ“ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี” เป็นปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ฝนเทียมนานาชาติต่างยกย่องพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการค้นคว้าทำฝนเทียมของไทย โดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี้ ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทำฝนในเขตร้อนของภูมิภาคอาเซียน มีประเทศต่างๆ นำแนวทางของไทยไปใช้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และบังคลาเทศ เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๕๓๙) ในการแก้ปัญหาอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่เศรษฐกิจด้วย จึงทรงพระวิริยะอุตสาหะศึกษาหาทางแก้ปัญหาเพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากพระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงท่อระบายน้ำในตรอกซอกซอย ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองสายหลัก ด้วยการขุดลอกขยายคูคลองต่างๆ ให้กว้างและลึกสร้างอุโมงค์ผันน้ำใต้ดิน ก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม จัดให้มีพื้นที่สงวนเป็นที่โล่ง ไม่ให้มีการก่อสร้างขยายเมือง เพื่อให้สามารถใช้เป็นทางระบายน้ำคลองในฤดูน้ำหลากแล้ว ยังพระราชทานพระราชดำริจัดให้มี “แก้มลิง” คือ สถานที่เป็นบึงเก็บพักน้ำชั่วคราว รอให้ระดับน้ำในคูคลองระบายน้ำพร่องลง แล้วจึงระบายปล่อยน้ำ เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้ดี โครงการ “แก้มลิง” นี้มีในหลายพื้นที่ เช่น โครงการแก้มลิงฝั่งตะวัน ออก รับน้ำจากสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ผ่านคลองธรรมชาติแนวเหนือและใต้ก่อนระบายออกสู่อ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพฯ ระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น โครงการแก้มลิง นี้ ยังมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมด้วย โดยน้ำที่ปล่อยลงจาก แก้มลิง จะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ให้เบาบางลง แล้วผลักลงสู่ทะเล (ในหลวง นายช่างใหญ่แห่งแผ่นดิน ๒๕๔๓) พระปรีชาสามารถใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านวิศวกรรม เพื่อทรงแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบำบัดน้ำเน่าเสีย ในชั้นแรก ได้พระราชทานพระราชดำริให้บำบัดโดยวิธีธรรมชาติ “บึงมักกะสัน” โดยใช้ผักตบชวา รับสั่งว่า “ผักตบชวา นี้ มันกินสิ่งโสโครก” การบำบัดวิธีธรรมชาตินี้ สามารถลดความเน่าเสียของน้ำเฉลี่ยได้ร้อยละ ๕๐แต่ต่อมา เมื่อการทางพิเศษสร้างทางด่วนมหานครคร่อมบึงมักกะสัน ทำให้บึงขาดแสงแดด การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติดังกล่าวจึงไม่เป็นผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยขึ้น โดยทรงนำแนวทางเริ่มต้นมาจาก “หลุก” อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเรียกเครื่องกลนี้ว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ประดิษฐ์สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๖ ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลที่ ๑ งผลงานคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี ๒๕๓๖ เป็นรางวัลเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “สิทธิบัตร” เลขที่ ๓๑๒๗ ในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์” (ชีวิตและทรัพยากรแห่งแผ่นดิน ใต้เบื้องพระยุคลบาท ๒๕๓๙) ปัญหาจราจรแออัดติดขัดในกรุงเทพมหานคร นั้น นอกจากจะนำเอาความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเกือบแสนล้านบาทต่อปีแล้วยังก่อปัญหามลพิษจากท่อไอเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาจราจร ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เช่น โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าสีลาศและสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ ปรับปรุงเพิ่มช่องทางจราจรบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพิ่มช่องทางเลี้ยวหน้ากรมประชาสัมพันธ์เดิม เพิ่มพื้นผิวจราจรบริเวณโซนสะพานพระราม ๙ และการสร้างระบบเครือข่ายระยะยาวเช่น โครงข่ายถนนวงแหวนรัชดาภิเษก โครงข่ายถนนวงแหวนอุตสาหกรรม โครงข่ายจตุจักรทิศตะวันตก - ตะวันออก ซึ่งมีการสร้างสะพานพระราม ๘ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ จะเชื่อมต่อเส้นทางจราจรกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นตามพระราชดำริ เพื่อลดปัญหาการจราจรแออัดต่อเนื่องระหว่างกรุงเทพฯกับธนบุรีแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของพสกนิกรไทย มีอีกเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากมีโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริมากกว่า ๒,๐๐๐ โครงการ ในด้านอาชีพเกษตรกรรมของราษฎร นั้น ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อนประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทรงกำหนดให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ เป็น ๓ ส่วนส่วน แรกประมาณ ๓ ไร่ ขุดสระกักน้ำไว้ใช้เพาะปลูก ส่วนที่สองประมาณ ๑๐ ไร่ เป็นที่เพาะปลูก ทำนาข้าว ๕ ไร่ ปลูกพืชสวน ๕ ไร่ ส่วนที่สาม ประมาณ ๒ ไร่ เป็นที่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชสวนครัว เป็นหลักการของ ทฤษฎีผสมผสานให้ราษฎรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ คือ ผืนดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการพึ่งพาตนเองได้ ช่วยให้มีที่อยู่ มีข้าวและพืชผักพอบริโภค ถ้ามีผลดีอาจขายเป็นรายได้เสริมไม่ร่ำรวยแต่ไม่อดอยาก และเป็นหลักการของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตลอดระยะเวลา ๕๔ ปี นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราช พระปัญญาคุณ พระเกียรติคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระเมตตาคุณ มิได้แผ่ปกเฉพาะพสกนิกรไทย หากแต่ยังแผ่ไพศาลไปถึงประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย และมิใช่ชาวไทยเท่านั้นที่เทิดทูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ชาวต่างประเทศต่างก็แซ่ซ้องสดุดีสรรเสริญพระเกียรติคุณพระมหาราชเจ้าของชาวไทยดังปรากฏว่า สถาบันในนานาประเทศได้ยกย่องประกาศเกียรติคุณ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ นี้ สถาบันวิศวกรโยธาแห่งสหราชอาณาจักร ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่เฉลิมพระเกียรติ ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพ “วุฒิวิศวกรกิตติมศักดิ์” ด้วยประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนำความปลาบปลื้มปีติมาสู่พสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า

โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย - คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


1. ความเป็นมาของโครงการ


เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิงซึ่งเป็นโครงการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระรบรมมหาราชวัง เนื่องจากในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลติดต่อกันหลายวัน พร้อมทั้งน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ล้นตลิ่ง แต่เมื่อปี พ.ศ.2538 ในช่วงฤดูน้ำหลากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 5,500 ลบ.ม./วินาที น้ำจึงล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการแก้มลิง ที่สมควรดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร โดย "แก้มลิง" นี้ให้ทำหน้าที่รวบรวมน้ำ รับน้ำ และดึงน้ำท่วมขังพื้นที่ทางตอนบนมาเก็บไว้ พร้อมกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกับโครงการแก้มลิง ตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ..2538 โดยอาศัยคลองสรรพสามิต คลองสหกรณ์ และพื้นที่บริเวณใกล้คลองดังกล่าวนั้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสภาพพื้นที่โดยทั่วไปไม่เอื้ออำนวยในการทำโครงการ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงควรพิจารณาศึกษาโครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย" และคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงแทน เนื่องจากคลองมหาชัย - คลองสนามชัยนี้ เป็นแหล่งรับน้ำใกล้บริเวณน้ำท่วมขังในเขตจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพฯ ที่ระบายน้ำลงมา ลักษณะโครงการที่สำคัญจะประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่าง ๆ พร้อมด้วยสถานีสูบน้ำตามความจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนไม่มากนัก และจะได้ประโยชน์คุ้มค่า รวมทั้งยังสามารถสร้างระบบให้เชื่อมกับโครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" รวมเป็นระบบในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษา และพิจารณาดำเนินการโครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย" โดยเร่งด่วนต่อไป


1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ

โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย" เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์ในการช่วยระบายน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ปิดกั้นคลองสายต่าง ๆ พร้อมสถานีสูงน้ำตามความจำเป็น โดย "แก้มลิง" จะทำหน้าที่รวบรวม รับ และดึงน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนลงมาเก็บไว้ในคลองมหาชัย - คลองสนามชัย และคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ แล้วสูบทิ้งลงทะเลผ่านทางปากคลองมหาชัย คลองพระราม และคลองขุนราชพินิจใจ ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งการเปิดระบายออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น - ลง ของน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก เช่นเดียวกับโครงการทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดำเนินการได้ผลมาแล้วเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2538


1.2 ขอบเขตโครงการ

ขอบเขตของพื้นที่โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย" สรุปได้ดังนี้

ทิศเหนือ ติดเขต อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยอาศัยคลองมหาสวัสดิ์เป็นแนวรับน้ำ

ทิศตะวันออก ติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 ลงไปจดเขตราษฎร์บูรณะ เขตพระประแดงกิ่ง อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยมีคลองขุนราชพินิจใจเป็นแนวแบ่งเขต

ทิศใต้ จดชายทะเลในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และเขต อ.เมือง จ.สมุทรสาคร


1.3 เป้าหมายโครงการ

1. เร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่แก้มลิงโดยเร็วที่สุด โดยแบ่งปริมาณน้ำให้ระบายไปตามคลองระบายน้ำ และแหล่งเก็บชะลอน้ำตามประสิทธิภาพที่มีอยู่เดิม และสมดุลกับปริมาณน้ำหลาก

2. ปรับปรุงคลองระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้ตามที่ได้ศึกษากำหนดแนวทางไว้

3. ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำต่าง ๆ ตามที่กำหนดและวางแผนไว้

4. ดำเนินการโครงการ โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน


1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. ช่วยระบายน้ำท่วมขังในที่ลุ่มทิ้งลงทะเล

2. ช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมขังให้สิ้นลง

3. ลดปัญหาความตึงเครียดทางด้านจิตใจของราษฎรในพื้นที่น้ำท่วม

4. ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

5. ลดค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่าง ๆ

6. การชัดน้ำจืดจากแม่น้ำท่าจีนเพื่อนำมาช่วยไล่น้ำเสีย

7. ช่วยให้มีการชัดน้ำจืดจากแม่น้ำท่าจีนเพื่อนำมาช่วยไล่น้ำเสีย

เมื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนตอนล่างในเขตจังหวัดสมุทรสาครเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้มีแหล่งน้ำจืดในฤดูแล้งเพียงพอสำหรับนำมาใช้ไล่น้ำเสียได้ ปัจจุบันน้ำในคลองภาษีเจริญและคลองมหาชัย รวมทั้งทางน้ำที่ต่อเนื่องในเขต กทม. ส่วนใหญ่จะมีน้ำเสียเป็นปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งสถานีสูบน้ำต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย" สามารถช่วยสูบน้ำเสียออกทิ้งลงทะเลในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วผันน้ำจืดจากแม่น้ำท่าจีนเข้าไปล้างคลองต่าง ๆ เหล่านั้น อย่างไรก็ดีเรื่องนี้จะต้องพิจารณาดำเนินการโดยรอบคอบ เพราะจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบ่อกุ้ง บ่อปลา ในเขตตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น